ยุคนี้เงินรั่วง่าย เพราะสิ่งกระตุ้นเร้าเยอะ การถือเงินไว้ตลอด 30 วันแล้วบริหารให้เหลือ เป็นเรื่องยากกว่าการตัดเงินเก็บออมก่อน แล้วค่อยใช้ส่วนที่เหลือจากการออม
สมการการออมยุคปัจจุบันที่ได้ผลและมีประสิทธิภาพคือ “เหลือเก็บค่อยเอาไปใช้” แทนที่จะเป็น “เหลือจ่ายค่อยเอาไปเก็บ” เหมือนในอดีต
รายได้ – เงินออม = เงินสำหรับใช้จ่าย
เทคนิคที่ผมใช้แล้วได้ผลลัพธ์ที่ดี อยากแบ่งปันไว้ให้ลองนำไปปรับใช้กัน มีดังนี้ครับ
1. หักออมก่อนใช้จ่ายแบบอัตโนมัติ
2. สะสมเศษเหรียญ
3. หักภาษีฟุ่มเฟือย 10%
โลกการเงินมีคำศัพท์สำคัญอยู่เบื้องต้นแค่ 2 คำ นั่นคือ “สภาพคล่อง” และ “ความมั่งคั่ง” การเงินเราต้องคล่อง มีกิน มีใช้ มีเหลือเก็บก่อน จากนั้นก็จะค่อยๆ สะสม จนเหลือล้นพร้อมไว้สำหรับการนำไปต่อยอดให้งอกเงย และกลายเป็นความมั่งคั่งในที่สุด ซึ่งทั้งหมดมีจุดเริ่มต้นมาจาก “เงินออม”
ผมเริ่มเก็บเงินด้วยวิธีนี้ หลังจากได้อัปเดตสมุดบัญชีเงินฝากที่ไม่ได้อัปเดตรายการอยู่หลายปี ตอนแรกนึกว่าจะมีรายการยาวเหยียด ปรากฏว่าธนาคารสรุปธุรกรรมการเงินที่ผ่านมาให้แค่ 2 บรรทัด
บรรทัดแรก แสดงยอดเงินเข้าบัญชีรวม 1,741,085.42 บาท บรรทัดที่สอง แสดงยอดเงินรวมที่ถูกถอนออก 1,734,659.51 บาท มีเงินเหลือติดบัญชีอยู่ 6,000 กว่าบาท
ที่จริงก็รู้เรื่องการหักบัญชีอัตโนมัติมานานแล้ว แต่แอบกลัวว่าถ้าตัดไปก่อนแล้วจะไม่พอใช้ สุดท้ายก็เลยไม่ได้เริ่มทำสักที เอาเข้าจริงวิธีการหักออมแบบอัตโนมัตินั้นไม่ได้ยุ่งยากอะไรเลย ปัญหาอยู่ที่ความกังวลใจของเราเองต่างหาก
วันนั้นเลยคิดใหม่ทำใหม่ เดินเข้าไปเปิดบัญชีเงินฝากประจำ แล้วสั่งให้ตัดเงินจากบัญชีเงินเดือนออก หลักการสภาพคล่องที่ดีต้องออมอย่างน้อย 10% แต่ตอนนั้นผมมีหนี้ค่อนข้างเยอะ เลยเริ่มต้นที่ 5% ไปก่อน แม้จะดูน้อยไปสักนิด แต่พอได้เริ่ม ได้ออม ได้สะสมต่อเนื่อง ก็รู้สึกดีต่อใจ 🙂
สิ่งที่สังเกตเห็นจากตัวเองก็คือ พอเราเริ่มเก็บเงินได้ต่อเนื่อง ก็จะเริ่มรู้สึกว่ามันไม่ยาก เราทำมันได้ จากนั้นก็จะเริ่มอยากเก็บเงินให้ได้มากขึ้น เริ่มงกมากขึ้น ใช้จ่ายน้อยลง
และที่สำคัญที่สุดก็คือ เริ่มมีความหวังกับชีวิตมากขึ้น เพราะเมื่อเริ่มเก็บเงินหมื่นได้ ตัวเราเองก็จะเริ่มเชื่อว่าการเก็บเงินแสนนั้นเป็นไปได้ และพอเก็บเงินแสนได้จริง ความเชื่อก็จะมีมากขึ้น จนถึงจุดที่เรากล้าเชื่อกล้าฝันว่าวันหนึ่งเราจะมีเงินเก็บหลักล้านได้
ช่องทางการตัดออม สำหรับคนเริ่มต้น ควรเลือกช่องทางการเก็บเงินที่มีความเสี่ยงต่ำ จะเลือกเก็บสะสมไว้ที่เดียวหรือหลายช่องทางผสมกันก็ได้ เช่น
เงินฝากธนาคาร
เงินฝากสหกรณ์
กองทุนรวมตลาดเงินและกองทุนรวมตราสารหนี้
ทุกครั้งที่กลับถึงบ้าน ผมจะแยกเหรียญ 5 และ 10 เอาไว้หยอดใส่กระปุกเพื่อการลงทุน เงินเก็บแบบนี้เหมือนจะไม่เยอะมาก แต่ถ้าเก็บทุกวัน ภายใน 2-3 เดือน รับรองเลยว่ามีเงินเก็บหลักพัน เอาไว้สมทบซื้อกองทุนรวมสะสมเพิ่มได้อย่างสบายๆ
ส่วนเศษเหรียญบาท เหรียญ 2 บาท และเหรียญสลึง จะเก็บแยกไว้อีกกระปุก สำหรับรวบรวมไว้บริจาค ไม่ว่าจะเป็นตู้รับบริจาคตามห้าง หรือนำไปร่วมสมทบทุนทำบุญตามโอกาสที่เหมาะสม
มีหลายคนพัฒนาแนวคิดนี้ต่อยอดไปใช้กับธนบัตรใบละ 50 บาท เช่น ทุกครั้งที่ได้เงินทอน แล้วมีแบงค 50 บาทติดมาด้วย ก็จะกันไว้เก็บออม ไม่นำไปใช้ แบบนี้ก็แล้วแต่วิธีการของแต่ละคน สำคัญคือ ขอให้ได้เริ่มเก็บเถอะ วิธีไหนก็ดีทั้งนั้นครับ
“อยากได้ของฟุ่มเฟือยก็ซื้อได้ แต่ต้องจ่ายภาษีให้ตัวเองด้วย” เช่น ถ้าอยากดื่มกาแฟดี แก้วละ 150 บาท ก็ดื่มได้ แต่ดื่มแล้วต้องหัก 15 บาท (หรือ 10% ของ 150 บาท) หยอดใส่กระปุกไว้สำหรับเก็มออมด้วย หรือถ้าวันไหนอยากกินข้าวนอกบ้าน มื้อละ 1,000 บาทก็กินได้ แต่ต้องคิดภาษีฟุ่มเฟือย 10%
ผมทำแบบนี้แล้วรู้สึกดีกับตัวเอง เพราะ
1. ทำให้เกิดสติในการจ่าย เนื่องจากของที่อยากได้จะมีราคาแพงขึ้นเล็กน้อย
2. มีเงินออมเพิ่มขึ้นทุกครั้งที่ใช้จ่าย ในแต่ละเดือนผมสะสมเงินจากวิธีก๊อกๆ แก๊กๆ แบบนี้ได้พอสมควร จากเริ่มต้นเก็บออมได้ 5% ในครั้งแรก ก็เริ่มเก็บได้มากขึ้น แล้วก็มากขึ้นเรื่อยๆ
โลกการเงินมีคำศัพท์สำคัญอยู่เบื้องต้นแค่ 2 คำ นั่นคือ “สภาพคล่อง” และ “ความมั่งคั่ง” การเงินเราต้องคล่อง มีกิน มีใช้ มีเหลือเก็บก่อน จากนั้นก็จะค่อยๆ สะสม จนเหลือล้นพร้อมไว้สำหรับการนำไปต่อยอดให้งอกเงย และกลายเป็นความมั่งคั่งในที่สุด ซึ่งทั้งหมดมีจุดเริ่มต้นมาจาก “เงินออม”