ยิ่งเงินน้อย ยิ่งต้องวางแผนการเงิน

ยิ่งเงินน้อย ยิ่งต้องวางแผนการเงิน

ยิ่งเงินน้อย ยิ่งต้องวางแผนการเงิน

ทุกวันนี้ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังเข้าใจผิดในเรื่องของ “การวางแผนการเงิน” และความเข้าใจผิดอันดับ 1 ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็คือ “การวางแผนการเงินเป็นเรื่องของคนมีเงินเยอะ” หรือ “ต้องมีเงินเหลือให้วางแผน” ส่วนคนเงินน้อยหรือเงินไม่ค่อยพอใช้นั้นหมดสิทธิ์

โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดเห็นตรงกันข้ามเลยครับ ผมคิดว่า ยิ่งมีเงินน้อยนั่นแหละ ยิ่งต้องวางแผน และต้องวางแผนให้ละเอียดด้วย

เวลาเราพูดถึงคำว่า วางแผนการเงิน เอาเข้าจริงมันมีหลายเรื่องแตกย่อยไปได้อีกมากมาย ตั้งแต่การวางแผนสภาพคล่อง (การใช้จ่าย) การวางแผนจัดการความเสี่ยง การวางแผนภาษี การวางแผนการลงทุน การวางแผนเกษียณ การวางแผนมรดก รวมไปถึงอื่นๆ ตามวัตถุประสงค์ของแต่ละบุคคล

แต่ไม่ว่าจะวางแผนเรื่องอะไร หลักของคำว่า “วางแผน” ก็เหมือนกันหมด นั่นคือ “มองไปข้างหน้า กำหนดเป้าหมาย แล้วย้อนกลับมานั่งคิดเตรียมการในปัจจุบัน”

หลักมันง่ายๆ แค่นี้เองครับ ...

ยกตัวอย่างการวางแผนเกษียณ โดยหลักมันก็คือการมองไปข้างหน้าในวันที่เราหยุดทำงาน ว่าเมื่อถึงเวลานั้นรายได้จากการทำงานของเราอาจจะหายไป เพราะเลิกทำงาน แต่รายจ่ายในชีวิตหลายอย่างยังคงอยู่ อาจลดลงบ้าง (เช่น ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ กรณีผ่อนหมดแล้ว) บางรายการอาจเพิ่มขึ้น (เช่น ค่ารักษาพยาบาล)

การวางแผนเกษียณก็จะเริ่มต้นจากตรงนั้น ก็คือ กะเกณฑ์ค่าใช้จ่ายที่จะใช้ในวันเกษียณ แล้วถอยกลับมาคิดมาวางแผนในวันนี้ ว่าต้องเก็บเงินเท่าไหร่ อย่างไร เก็บในรูปเงินก้อนดี หรือว่า Passive Income ดี หรือผสมกันเท่าไหร่ยังไง

หรืออย่างการวางแผนภาษี มันก็คือการประเมินรายได้ล่วงหน้าทั้งปี โดยการประมาณการ แล้วก็มาคิดคำนวณดูว่า ถ้าได้รายได้ตามที่คาด ต้องเสียภาษีเท่าไหร่ ถ้าอยากลดหรือเบาภาระภาษีลง ก็ต้องคิดเรื่องค่าลดหย่อนต่างๆ ซึ่งก็ต้องประเมินให้ดี เพราะ “ค่าลดหย่อนมีต้นทุนที่ต้องจ่ายแลกมา” ด้วยเหมือนกัน

กลับมาที่คนสตางค์น้อย เงินไม่ค่อยพอใช้ การวางแผนการเงินที่จำเป็นสำหรับคนกลุ่มนี้มาก ก็คือ การวางแผนสภาพคล่อง หรือจะเรียกอีกอย่างว่า การวางแผนใช้จ่ายก็ได้

เงินน้อย เงินขาด เงินไม่พอใช้ อันดับแรกเราต้องไม่ยอมรับมันครับ ชีวิตการเงินแบบนี้ขวางความก้าวหน้าของชีวิตอย่างมาก ดังนั้นเราจึงต้อง “วางแผน”

สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือ รู้ให้ได้ว่า “เงินพอใช้หรือเปล่า” หรือ “ขาดเท่าไหร่” อันนี้สำคัญมาก หลายคนรู้อย่างเดียวเงินไม่พอใช้ พอถามว่า เดือนหน้าขาดเงินเท่าไหร่ ตอบ “ไม่รู้” แล้วก็จัดการเงินมั่วไปหมด

พอขาดก็หาหยิบยืมไปทั่ว กลายเป็นภาระเพิ่มขึ้นอยู่ตลอด อารมณ์เหมือนคนที่ตกลงไปในหลุม แต่ไม่ได้หาทางตะกายขึ้นอย่างจริงจัง หนำซ้ำในมือยังถือพลั่วขุดหลุมให้ลึกลงกว่าเดิมเสียอีก (บ้าไปแล้ว)

คนที่รู้ทั้งรู้ว่ามีปัญหา แล้วไม่ได้เตรียมการรับมือ อาศัยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นคนวิสัยทัศน์การเงินสั้น เพราะคิดเรื่องเงินได้ไกลไม่เกิน 30 วัน (รอบการทวงหนี้ครั้งถัดไป) แบบนี้โดยส่วนตัวผมมองว่า เป็นการขาดความรับผิดชอบทางการเงินอย่างหนึ่ง และประสบความสำเร็จได้ยากมากกกกกก

ถ้าวันนี้คุณเงินไม่ค่อยพอใช้ หรือเก็บออมไม่ค่อยได้ ถึงเวลาต้องจริงจังกับตัวเองแล้วครับ มาเริ่มวางแผนการเงินกัน​ โดยเริ่มจากวางแผนสภาพคล่องก่อนเป็นอันดับแรก

หยิบกระดาษ A4 มาตีตาราง หรือจะใช้ Excel ก็ได้ แล้วลงข้อมูลรายการรับจ่ายล่วงหน้า 6 เดือน ถัดจากเดือนนี้ไปโดยละเอียด ไล่เรียงตั้งแต่ รายรับ เงินออมที่หักก่อนใช้จ่าย และรายจ่าย ทีละรายการ

สุดท้ายหักลบกันให้เห็น “เงินคงเหลือ” (บรรทัดสุดท้าย) ในแต่ละเดือน ไอ้เจ้าเงินคงเหลือนี่แหละ คือ สภาพคล่อง มันตอบเราได้ว่าเงินพอใช้มั้ย ขาดเหลือเดือนละเท่าไหร่ (ติดลบเท่าไหร่ก็ขาดเท่านั้น)

คำถามถัดมาคือ เห็นบรรทัดสุดท้ายของงบการเงิน “ติดลบ” แล้วคุณรู้สึกอย่างไรบ้าง ถ้าเฉยๆ ก็แยกย้าย อย่าเสียเวลาคุยกันต่อ หรือถ้าเห็นแล้วดรามา อันนี้ก็เสียเวลาเหมือนกัน

แต่ถ้าติดลบแล้วไม่ยอม เฮ้ย! ชีวิตแบบนี้ไม่เอาแล้วโว้ย ก็ให้กลับมาไล่เรียงค่าใช้จ่ายแต่ละตัว วางแผนว่าจะลดการใช้มันได้อย่างไรบ้าง ภาระหนี้แต่ละรายการ ผ่อนหนักไปมั้ย ถ้าหนักไปให้ลองเจรจากับเจ้าหนี้

วางแผนโดยละเอียดกับรายจ่ายทุกตัวก่อน แล้วตอบให้ได้ในทุกรายการว่าจะจัดการกับมันอย่างไร??? ค่ากินจะลดอย่างไร ค่าเดินทางจะเบายังไง หนี้บัตรเครดิตหลายใบรวมเป็นรายการเดียวได้มั้ย สินเชื่อบ้านเริ่มผ่อนไม่ไหว ขอลดค่างวดได้หรือเปล่า ต้องคุยกับใคร

การจัดการกับรายจ่ายที่เกินกำลัง เหมือนกับการห้ามเลือด เลือดไหลต้องห้ามเลือดก่อน พอเลือดหยุดไหลค่อยคิดต่อว่า จะหาทางเพิ่มเลือด (รายได้) ให้กับตัวเองยังไง “เราพอทำอะไรได้บ้าง” ให้มีเงินไหลเข้ากระเป๋าเพิ่ม

ในบรรดาการวางแผนการเงินทั้งหมด การวางแผนสภาพคล่องเป็นเรื่องเบสิคที่สุด เป็นพื้นฐานที่ทุกคนต้องทำให้ได้ ถ้าวันนี้คุณรู้สึกว่าตัวเองจน การเงินกระเบียดเกษียร แสดงว่าคุณยังไม่ได้จริงจังกับเรื่องนี้ และผมอยากแนะนำให้คุณเริ่มต้นวางแผนมันอย่างจริงจังเป็นอันดับแรก

คนเราเวลาตกอยู่ในหลุม ผมรู้ว่ามันทุกข์มันท้อ แต่ไม่ว่าอย่างไรเราต้องมีสติ และสู้กลับอย่างมีแบบแผน

วันนี้ถ้าคุณกำลังติดลบอยู่ หรือเงินกินใช้เดือนชนเดือน อย่าไปท้อครับ ค่อยๆ วางแผนการเงินจัดการสภาพคล่องซะ อาจใช้เวลาสักพักในการตะกายขึ้นจากหลุมที่เราขุดล่อตัวเอง แต่พอมือเราแตะขอบหลุม และเริ่มดันตัวขึ้นโผล่พ้นจากหลุมทีละน้อย คุณจะเริ่มมีกำลังใจ

หนี้ยังไม่หมด แต่เงินเริ่มไม่ติดลบ หนี้ยังต้องจ่าย แต่เริ่มมีเงินออม เมื่อนั่นคุณก็สามารถคิดต่อไปยังการวางแผนการเงินเรื่องต่อๆไปได้ ไม่ว่าจะเป็น การวางแผนจัดการความเสี่ยง (เช่น การวางแผนซื้อประกัน) การวางแผนการลงทุน หรือการวางแผนเกษียณ ทั้งหมดเร่ิมจากการวางแผนสภาพคล่องเป็นอันดับแรก

วันนี้ผมอยากชวนทุกคนที่เงินไม่ค่อยพอใช้ เงินเก็บเงินออมไม่ค่อยมี มาวางแผนการเงินกันทุกคนนะครับ อ่านจบบทความวันนี้แล้ว เอื้อมไปหยิบกระดาษ A4 มาเขียนรายการรับจ่ายได้เลยครับ

เงินน้อยยิ่งต้องวางแผนการเงิน และต้องวางแผนให้ละเอียดด้วย จำคำนี้ไว้ให้ดีนะครับ

ขอส่งกำลังใจให้กับทุกคนครับ

#โค้ชหนุ่ม