เรื่องเงิน … ตัวอย่างที่ดีมีค่ามากกว่าคำสอน

โค้ชหนุ่ม - จักรพงษ์ เมษพันธุ์
โค้ชหนุ่ม - จักรพงษ์ เมษพันธุ์
เรื่องเงิน … ตัวอย่างที่ดีมีค่ามากกว่าคำสอน

เรื่องเงิน … ตัวอย่างที่ดีมีค่ามากกว่าคำสอน

พ่อแม่ทุกคนสามารถเริ่มต้นสอนเรื่องเงินให้กับลูกได้ ด้วย “คำพูด” ที่เราใช้ และการ “ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง” เพราะเด็กสามารถเรียนรู้และซึมซับได้อย่างรวดเร็วจากการฟังและการดูต้นแบบของพวกเขา และด้วยเหตุที่โรงเรียนไม่สอนเรื่องเงินกันจริง ๆ จัง ๆ ดังนั้นสิ่งที่พวกเขาได้เห็นและได้ยินเกี่ยวกับเงินส่วนใหญ่ จึงมาจากพ่อแม่ และคนที่บ้าน

ที่สำคัญก็คือ สิ่งต่าง ๆ ที่เขาได้เห็นและได้ยินจากที่บ้านนั้น จะถูกปลูกฝังและกลายเป็นทัศนคติทางการเงินของเขา และเมื่อเติบโตขึ้น เขาก็จะกลายเป็นคนที่มีวิธีคิดเรื่องเงินเหมือนกับพ่อแม่โดยไม่รู้ตัว

ครอบครัวที่มักใช้คำพูดทางลบกับเรื่องเงิน ก็จะปลูกฝังทัศนคติการเงินแบบลบ ๆ ให้กับลูก อาทิ “เงินมันหายาก ใช้ให้ประหยัดหน่อย” “เราไม่มีปัญญาซื้อของพวกนั้นหรอก” “เงินกินยังไม่ค่อยจะมี อย่าฝันให้มันไกลนัก” ฯลฯ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นคำพูดเชิงลบ ที่ส่งผลกระทบต่อวิธีคิดของเด็กในเรื่องเงินทั้งสิ้น

ยกตัวอย่างของคำพูดที่ว่า “เงินมันหายาก” ทั้งที่จริงๆแล้ว ผู้พูดตั้งใจจะสื่อสารเรื่องการใช้จ่ายให้ “ประหยัด”​ และ “คุ้มค่า”​ แต่ด้วยวิธีการสื่อสารที่แย่ กลายเป็นก่อให้เกิดวิธีคิดเชิงลบ ซึ่งอาจส่งผลต่อทัศนคติในการสร้างความมั่งคั่งของเด็กโดยไม่ตั้งใจ 

แค่หยุดอารมณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อถูกลูกร้องขอเงินสักนิด แล้วค่อยๆอธิบายให้เขาเห็นคุณค่าของเงินที่หยิบออกจากกระเป๋า บอกเขาสักนิดว่าพ่อแม่ได้มันมาอย่างไร และขอให้เขาเลือกและตัดสินใจใช้มันให้เกิดประโยชน์สูงสุด กอดเขาและบอกว่าคุณเชื่อว่าเขาโตพอที่จะดูแลเงินตัวเองได้ เพียงเท่านี้ลูกคุณก็จะเริ่มซึมซับ “ความตระหนัก” ทางการเงินไปทีละน้อยแล้ว

หรืออย่างคำพูดที่ว่า “เราไม่มีปัญญาซื้อของพวกนั้นหรอก” คำพูดนี้ก็กลายเป็นการปิดกั้นความเชื่อและความคิดของเด็กๆ ได้เช่นกัน แทนที่จะพูดหรือบอกกับเขาว่า “เงินที่เรามีตอนนี้พ่อและแม่ต้องจัดสรรไว้ใช้จ่ายอีกหลายอย่างที่มีความสำคัญ ถ้าลูกอยากได้ เรามาช่วยคิดกันดีกว่าว่า เราจะทำยังไงกันดีถึงจะได้เป็นเจ้าของมัน” จากประโยคปิดกั้นความคิด ก็กลายเป็นการกระตุ้นให้คิดได้ในทันที

นี่คือความสำคัญของ “คำพูด” ที่ใช้กันในบ้าน ที่คนส่วนใหญ่อาจนึกไม่ถึง และบางครั้งเผลอปล่อยมันลอยลมออกไปโดยไม่ได้คิด

“เราหาเงินได้มากเท่าที่ต้องการ ถ้าเรารู้จักและเข้าใจวิธีหา แต่ที่สำคัญคือ หามาได้แล้ว ลูกต้องรู้จักใช้ให้คุ้มค่า และต้องรู้จักเก็บออมไว้เพื่อวันข้างหน้าเสมอ”​ นี่คือสิ่งที่ผมพูดกับลูกเป็นประจำ

อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นวิธีการสอนเรื่องเงินแบบที่เด็กซึมซับได้ง่ายที่สุด ก็คือ “นิสัย” การใช้จ่ายของเราที่แสดงให้เด็กดู

  • พ่อแม่บางคนพร่ำบ่นว่าเงินมันหายาก ในขณะที่ตัวเองคาบบุหรี่ กินเหล้า หรือจดโพยหวย
  • พ่อแม่บางคนสอนให้ลูกประหยัด ในขณะที่ตัวเองหมดเงินไปกับสิ่งไร้ค่า และการหาความสุขนอกบ้าน
  • พ่อแม่บางคนสอนลูกไม่ให้ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ในขณะที่ตัวเองมีใบแจ้งหนี้ที่จ่ายได้แค่ขั้นต่ำอยู่เต็มไปหมด

ตัวอย่าง ที่ดีมีค่าและทรงพลังมากกว่า คำสอน …

  • อยากให้ลูกใช้จ่ายประหยัด พ่อแม่ใช้จ่ายประหยัดให้ลูกดูก่อนดีไหม
  • อยากให้ลูกเก็บออม พ่อแม่เก็บออมหรือเปล่า
  • อยากให้ลูกทำบัญชีค่าขนมตัวเอง พ่อแม่หละทำงบทำบัญชีของที่บ้านหรือไม่

คำสอนอะไรก็ไร้ค่า หากคุณพ่อคุณแม่ยังทำมันไม่ได้ 

ถ้าอยากให้ลูกมีความสุขทางการเงินในวันข้างหน้า … นักเรียนคนแรก คือ คุณพ่อคุณแม่ทุกคนเลยครับ

#TheMoneyCoachTH