ผมเริ่มเก็บเงินด้วยวิธีนี้ หลังจากได้อัปเดตสมุดบัญชีเงินฝากที่ไม่ได้อัปเดตรายการอยู่หลายปี ตอนแรกนึกว่าจะมีรายการยาวเหยียด ปรากฏว่าธนาคารสรุปธุรกรรมการเงินที่ผ่านมาให้แค่ 2 บรรทัด
บรรทัดแรก แสดงยอดเงินเข้าบัญชีรวม 1,741,085.42 บาท
บรรทัดที่สอง แสดงยอดเงินรวมที่ถูกถอนออก 1,734,659.51 บาท
มีเงินเหลือติดบัญชีอยู่ 6,000 กว่าบาท
ผมมีเงินเข้าเป็นล้าน แต่ไม่มีเงินเก็บกับเขาเลย!
เงิน 6,000 กว่าก็แค่เงินเหลือสำหรับใช้กินในเดือนนั้น
ที่จริงก็รู้เรื่องการหักบัญชีอัตโนมัติมานานแล้ว แต่แอบกลัวว่าถ้าตัดไปก่อนแล้วจะไม่พอใช้ สุดท้ายก็เลยไม่ได้เริ่มทำสักที
เอาเข้าจริงวิธีการหักออมแบบอัตโนมัตินั้นไม่ได้ยุ่งยากอะไรเลย ปัญหาอยู่ที่ความกังวลใจของเราเองต่างหาก
วันนั้นเลยคิดใหม่ทำใหม่ เดินเข้าไปเปิดบัญชีเงินฝากประจำ แล้วสั่งให้ตัดเงินจากบัญชีเงินเดือนทันทีในวันที่เงินเดือนออก หลักการสภาพคล่องที่ดีต้องออมอย่างน้อย 10% แต่ตอนนั้นผมมีหนี้ค่อนข้างเยอะ เลยเริ่มต้นที่ 5% ไปก่อน แม้จะดูน้อยไปสักนิด แต่พอได้เริ่ม ได้ออม ได้สะสมต่อเนื่อง ก็รู้สึกดีต่อใจ 🙂

พลังของการตัดออมต่อเนื่อง
สิ่งที่สังเกตเห็นจากตัวเองก็คือ พอเราเริ่มเก็บเงินได้ต่อเนื่อง ก็จะเริ่มรู้สึกว่ามันไม่ยาก เราทำมันได้ จากนั้นก็จะเริ่มอยากเก็บเงินให้ได้มากขึ้น เริ่มงกมากขึ้น ใช้จ่ายน้อยลง
และที่สำคัญที่สุดก็คือ เริ่มมีความหวังกับชีวิตมากขึ้น เพราะเมื่อเริ่มเก็บเงินหมื่นได้ ตัวเราเองก็จะเริ่มเชื่อว่าการเก็บเงินแสนนั้นเป็นไปได้ และพอเก็บเงินแสนได้จริง ความเชื่อก็จะมีมากขึ้น จนถึงจุดที่เรากล้าเชื่อกล้าฝันว่าวันหนึ่งเราจะมีเงินเก็บหลักล้านได้
ช่องทางการตัดออม สำหรับคนเริ่มต้น ควรเลือกช่องทางการเก็บเงินที่มีความเสี่ยงต่ำ จะเลือกเก็บสะสมไว้ที่เดียวหรือหลายช่องทางผสมกันก็ได้ เช่น
– เงินฝากธนาคาร
– เงินฝากสหกรณ์
– กองทุนรวมตลาดเงินและกองทุนรวมตราสารหนี้